สภาการสาธารณสุขชุมชนหารือ กมธ.การเงินฯ เดินหน้าผลักดัน “เงินประจำตำแหน่งนักสาธารณสุข” คาดชัดเจน ธ.ค. นี้
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 รองศาสตราจารย์วรพจน์ พรหมสัตยพรต นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน วาระที่ 3 (พ.ศ. 2567-2570) ได้เข้าประชุมกับคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ณ อาคารรัฐสภา
เพื่อนำเสนอข้อมูลและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการกำหนดให้ “นักสาธารณสุข” ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) โดยมีนายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย เป็นประธานการประชุม
นายพัทธพล อักโข เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูลด้วย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ทั้งนี้ สภาการสาธารณสุขชุมชนได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญต่อที่ประชุม ดังนี้
1. การพิจารณากำหนดเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มพิเศษ (พ.ต.ส.) ของนักสาธารณสุข ชี้แจงถึงความสำคัญและเหตุผลในการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ 2. บทบาทและความสำคัญของนักสาธารณสุขและความแตกต่างจากนักวิชาการสาธารณสุข เน้นย้ำถึงความเฉพาะทางและความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน โดยนักสาธารณสุขจะต้องสำเร็จการศึกษาด้านสาธารณสุขโดยตรงและมีบทบาทหลักในงานปฏิบัติการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ รวมถึงมีองค์ความรู้ครบ 5 ด้านตามมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งแตกต่างจากนักวิชาการสาธารณสุขที่เน้นงานบริหารจัดการข้อมูล
3. ความท้าทายในการปฏิบัติงานในวิชาชีพนักสาธารณสุข สะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคที่นักสาธารณสุขต้องเผชิญในการทำงานจริง โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดาร
4. เหตุผลสนับสนุนการให้เงินประจำตำแหน่งแก่นักสาธารณสุข เสนอหลักการและเหตุผลที่ชัดเจนในการเพิ่มขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
5. ผลลัพธ์การดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงคุณูปการของนักสาธารณสุขในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน
“นักสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชนและยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะในระบบบริการปฐมภูมิ ซึ่งต้องรับผิดชอบการดูแลสุขภาพองค์รวม การให้เงิน พ.ต.ส. จึงเป็นการตอบแทนความเชี่ยวชาญและความเสี่ยงในการทำงาน พร้อมทั้งจะเป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนาความก้าวหน้าของงานสาธารณสุขต่อไป” นายพัทธพล อักโข กล่าวย้ำ
นายพัทธพล อักโข ยังแสดงความกังวลว่า แม้ข้อเสนอขอปรับหลักเกณฑ์เงินเพิ่มผู้ปฏิบัติงานจะผ่านการเห็นชอบจาก อ.ก.พ. ของกระทรวงสาธารณสุขมาตั้งแต่ปี 2565 แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสร้างความเหลื่อมล้ำกับ 7 วิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับเงิน พ.ต.ส. ไปแล้ว เขามองว่าการที่นักสาธารณสุขต้องเสียค่าขึ้นทะเบียนและค่าต่ออายุใบประกอบวิชาชีพ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนค่าตอบแทนที่ทัดเทียม ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่ทำงานเสียสละเพื่อประชาชนมาโดยตลอด
ด้านนายชำนาญ มีมูล อุปนายกสภาการสาธารณสุขชุมชน เน้นย้ำว่า นักสาธารณสุขกว่า 30,000 คนที่มีใบประกอบวิชาชีพนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นในระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อย่างไรก็ตาม หลังจากการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายแห่งยังขาดแคลนแพทย์ประจำ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการกำกับดูแลวิชาชีพและความปลอดภัยในการให้บริการ ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการกำหนดระบบกำกับวิชาชีพที่ชัดเจน
ขณะที่นายไพฑูรย์ จิตเนาวรัตน์ กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวเสริมว่า งานสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ซึ่งนักสาธารณสุขทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อย่างใกล้ชิดถือเป็นกลไกสำคัญในการดูแลประชาชน โดยยกตัวอย่างในพื้นที่ทุรกันดารอย่างจังหวัดตาก ที่นักสาธารณสุขต้องเผชิญความยากลำบากในการเดินทาง แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคระบาด แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการสนับสนุนให้นักสาธารณสุขสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพ
นางสาวนัทยากรณ์ เดชา ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการขอเพิ่มเงินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2567 และส่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สำนักงาน ก.พ. ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ก.พ. ซึ่งยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับอัตรากำลังและความขาดแคลนของนักสาธารณสุข
ด้านผู้แทนสำนักงาน ก.พ. ชี้แจงถึงขั้นตอนการพิจารณาที่ต้องแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ และคาดการณ์ว่าจะได้รับการพิจารณาภายในปีงบประมาณ 2568 โดยเงินประจำตำแหน่งสำหรับนักสาธารณสุขระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ จะเพิ่มค่าใช้จ่ายประมาณ 190 ล้านบาทต่อปี
ในส่วนของท้องถิ่น ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า การบริหารงานบุคคลของท้องถิ่นแตกต่างจาก ก.พ. โดยอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งคณะกรรมการการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) เป็นผู้กำหนดมาตรฐานกลาง โดยปัจจุบันมีนักสาธารณสุขใน อปท. 181 ราย และกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอ ก.ถ. พิจารณาเรื่องเงิน พ.ต.ส.
ความเห็นจากทุกฝ่ายล้วนสะท้อนถึงความสำคัญของบทบาทนักสาธารณสุขที่เป็นรากฐานของระบบสุขภาพชุมชน อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการพิจารณาเรื่องค่าตอบแทนพิเศษที่เหมาะสม ยังคงเป็นความท้าทายที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรผู้เสียสละเหล่านี้ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ และสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว
นายพัทธพล อักโข เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน เปิดเผยถึงผลการหารือกับสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับไทม์ไลน์การกำหนดให้ตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ได้รับเงินประจำตำแหน่งไว้ดังนี้
“การดำเนินการขับเคลื่อนและผลักดันของคณะกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชน วาระที่ 3 (พ.ศ. 2567-2570) ในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจของนักสาธารณสุข ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศ” นายพัทธพล กล่าวทิ้งท้าย