หน้าแรก ข่าวสาร ข่าวประชาสัมพันธ์ ขอร่วมไว้อาลัย แด่การจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ของนายชัยณรงค์ พรหมโสภา (พี่อุ้ม) ต้นแบบหมออนามัย
ข่าวประชาสัมพันธ์

ขอร่วมไว้อาลัย แด่การจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ของนายชัยณรงค์ พรหมโสภา (พี่อุ้ม) ต้นแบบหมออนามัย

 

พี่อุ้ม … ต้นแบบหมออนามัย ทำดีสุดหัวใจ จนวาระสุดท้ายของชีวิต

“…พี่อุ้มคิดเสมอว่า คำว่าหมออนามัยมันคือ 24 ชม. ไม่ใช่แค่ 8 ชม. ชีวิตชาวบ้านก็เช่นกัน…”

เป็นกระแสในวงการสาธารณสุขชุมชนของจังหวัดอุดรธานีอย่างมาก เมื่อเช้าวันหนึ่งมีข่าวที่ส่งต่อกันในหลายกลุ่มไลน์ของจังหวัดเกี่ยวกับการจากไปของนายชัยณรงค์ พรหมโสภา หรือที่ใครหลายคนเรียกว่า “พี่อุ้ม” หรือที่ชาวบ้านต่างเรียกว่า “คุณหมออุ้ม” หมออนามัย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกลิ้งคำ จังหวัดอุดรธานี

การจากไปของพี่อุ้มนับเป็นการสูญเสียที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข และชาวบ้านบ้านคำกลิ้งก็เสียใจกับการจากไปอย่างมาก จนมีการร้องขอให้มีการตั้งบำเพ็ญกุศลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกลิ้งคำเพื่อที่ชาวบ้านกว่า 1,500 คน จะได้มีโอกาสร่วมบำเพ็ญกุศลให้แก่คุณหมออุ้ม

ครั้นจะกล่าวถึงสาเหตุที่พี่อุ้มอยู่ในใจของชาวบ้าน และชาวสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานีนั้นมีหลายประการ ทั้งการดูแลครอบครัว การครองตน และการครองงาน ซึ่ง คุณปรานต์พนิตา นาสูงชน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ได้เขียนบทความเรื่อง “คนดีไม่มีวันตาย” เพื่อไว้อาลัยแก่พี่อุ้มไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ฉันเคยได้ยินได้อ่านวลีนี้อยู่บ่อยๆ “หัวใจของฉันมีความสุขทุกครั้งที่ได้เต้นเพื่อผู้อื่น”

แต่ไม่เคยเชื่อได้เต็มหัวใจนักว่ามีคนแบบนี้อยู่จริงๆ เหรอ จนฉันได้รับรู้หลายเรื่องราวของพี่อุ้ม ฉันจึงเชื่อแล้วว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่แหล่ะ หากแต่มีอุดมการณ์ของตนเองที่จะใช้ชีวิตเพื่อความสุขของคนอื่น มากกว่าคิดถึงตัวเองเป็นอย่างไร .. หัวใจของพี่อุ้มคงมีความสุขทุกครั้งที่ได้เต้นเพื่อผู้อื่นสินะ..

หลายสิ่งที่ฉันรับรู้ในความเป็น “พี่อุ้ม” ทำให้อดไม่ได้ที่จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพี่อุ้มให้อีกหลายคนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักมีโอกาสได้อ่านและรู้จักพี่อุ้มในมุมของคนที่ทุ่มเททำงานด้วยหัวใจ

เช้าวันที่ 23 เมษายน 2563 ฉันตื่นขึ้นมาพร้อมรับทราบกับข่าวที่หดหู่ในหัวใจเป็นที่สุด “พี่อุ้ม เสียเมื่อตอนหกโมงเช้าแล้วตุ๊ก” รอผลชัณสูตรว่าเป็นอะไรแล้วจะบอกนะว่าตั้งศพไว้ที่ไหน ฉันวางสายน้องสาวของพี่อุ้ม ซึ่งเป็นเพื่อนพยาบาลของฉัน แล้วห้าโมงเย็นฉันก็รีบโทรหาเพื่อนของฉัน “แอน เอาศพพี่อุ้มไว้ที่ไหน เราจะไปฟังสวด”

“…ชาวบ้านขอให้เอาศพพี่อุ้มไว้ที่ รพสต. ขอสวด 5 วัน และขอให้เผาพี่อุ้มที่วัดป่าหน้า รพสต.ที่พี่อุ้มทำงานอยู่ ชาวบ้านรวมถึงเจ้าหน้าที่ รพสต.จัดการงานให้ทุกอย่างเลย เขาบอกทำใจไม่ได้ที่พี่อุ้มจากไปกระทันหันแบบนี้…”

หลังวางสายฉันได้แต่นึกในใจว่าต้องดีขนาดไหนกันนะ ชาวบ้านถึงรักขนาดนี้ เกิดมาฉันไม่เคยได้ยินเลยว่า มีการตั้งศพสวดอภิธรรมที่ รพสต. ยิ่งโดยเฉพาะเป็นการร้องขอของชาวบ้าน

พี่อุ้ม พี่ชายที่ฉันรู้จักมาราว 27 ปี ในห้วงคำนึงของฉัน พี่อุ้มเป็นผู้ชายใจดี ใบหน้าเปื้อนยิ้มอยู่ตลอดเวลา ชอบช่วยเหลือผู้คน ตอนที่ฉันรู้จักพี่อุ้มตอนนั้นฉันเป็นนักเรียนพยาบาล พี่อุ้มเป็นนักวิชาการสาธารณสุขทำงานอยู่ที่ต่างอำเภอ ภาพที่ทุกคนเห็นและเล่าให้ฉันฟัง แม้วันนี้จะผ่านมาแล้วถึง 27 ปี ทุกคนยังมีภาพจำที่พี่อุ้มขับรถมอเตอร์ไชด์ไปกลับเกือบ 80 กิโลทุกวันเพื่อดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งติดเตียง จนกระทั่งคุณพ่อพี่อุ้มเสียชีวิต นี่หละมั้งที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่อุ้มเปลี่ยนสายงานจากเป็นนักวิชาการสาธารณสุข มาเรียนพยาบาล

ฉันเคยถามว่าทำไมถึงอยากเป็นพยาบาล พี่อุ้มบอกว่า เพราะเป็นพยาบาลมันได้ดูแลผู้คน ได้ให้การรักษาพยาบาล ได้ช่วยชีวิต ได้ดูแลชาวบ้านมากกว่าเป็น นวก. “ถ้าเป็นพยาบาลพี่น่าจะช่วยเหลือชาวบ้านได้มากกว่า” พี่อุ้มจึงลาไปเรียนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิตหลักสูตร 2 ปี ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสรรพสิทธิประสงค์ ในปี 2550 และศึกษาต่อจนพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน ในปี 2558

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาพที่ฉันเห็นมาตลอดหรือแม้ทั้งเรื่องราวที่คนมักเล่าถึงพี่อุ้ม คือภาพผู้ชายที่ทำงานทุกอย่างอย่างเต็มที่

ไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ไม่มีคำว่าไม่ช่วยถ้าหากใครเดือดร้อนมาขอให้ช่วย หรือแม้ไม่ขอ แค่ขอให้รู้ว่าพอจะช่วยอะไรได้ พี่อุ้มจะเข้าไปช่วยเหลือทันที

พี่อุ้มจะพักที่บ้านพัก รพสต. ชาวบ้านเจ็บป่วยมาตอนไหนเรียกได้ตลอดไม่ว่าจะดึกดื่น หรือจะเช้าตรู่แค่ไหน พี่อุ้มไม่เคยเกี่ยงงอน หรือหน้างอแม้แต่ครั้งเดียว ทุกข์ของชาวบ้านก็คือทุกข์ของพี่อุ้ม และตลอดชีวิตการทำงานของพี่อุ้มเบิกโอทีน้อยมาก โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาด พี่อุ้มไม่ยอมเอาโอทีเลยเพราะอยากมีเวลาออกหมู่บ้านให้เต็มที่ ไม่ใช่บ้านพี่อุ้มรวย ไม่ใช่ไม่มีใครต้องรับผิดชอบดูแล เพราะตั้งแต่พ่อเสียชีวิต พี่อุ้มคือหัวหน้าครอบครัวที่ต้องดูแลอีกหลายชีวิต

แต่พี่อุ้มคิดเสมอว่า คำว่าหมออนามัยมันคือ 24 ชม. ไม่ใช่แค่ 8 ชม. ชีวิตชาวบ้านก็เช่นกัน

ทุกเช้าพี่อุ้มจะขับรถมอเตอร์ไซด์เข้าไปในเมืองราว 20 กิโลเมตร เพื่อไปเยี่ยมแม่และพูดคุย ซื้ออาหารให้แม่ แล้วพี่อุ้มก็ขับรถกลับมาทำงานที่ รพสต.ต่อ กิจกรรมมากมาย ตรวจรักษา ออกหน่วย เข้าค่าย เป็นวิทยากร ร่วมงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงอีกบทบาทหนึ่งที่เป็นหัวหน้า รพสต. ที่ต้องทำงานบริหาร ทั้ง เงิน คน ของ รวมถึงเป็นครูพี่เลี้ยงให้กับนักศึกษาพยาบาล และนักศึกษาสาธารณสุขจากสถาบันต่างๆ ที่ส่งมาฝึกที่ รพสต.ที่พี่อุ้มสังกัดอยู่ พี่อุ้มทำหมดไม่เคยปฏิเสธ

จากความทุ่มเท เสียสละมากมายที่พี่อุ้มทำมาตลอดชีวิตราชการ ทำให้พี่อุ้มได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้พี่อุ้มหัวใจพองโตเท่ากับการได้ดูแลชาวบ้าน 5 หมู่บ้านที่พี่อุ้มรับผิดชอบอยู่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

โดยเฉพาะช่วงที่โควิด 19 ระบาด ตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา ด้วยความรักที่มีให้กับชาวบ้าน พี่อุ้มจะรณรงค์ให้ความรู้ ให้ชาวบ้านรู้จักป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างทางสังคม รวมถึงเข้าใจถึงความสำคัญของการที่ต้องกักตัวในบ้าน 14 วันหากใครมาจากพื้นที่เสี่ยง พี่อุ้มจึงต้องปรับการทำงานทุกอย่าง ทั้งที่ไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ แต่พี่อุ้มยอมเหนื่อยมากขึ้นเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน

พี่อุ้มต้องตื่นตี 4 ทุกวันเพื่อทำงานเอกสาร รายงาน key ข้อมูลต่างๆ ของ รพสต. ให้เสร็จ ราว 6 โมงเช้าของทุกวันพี่อุ้มจะขับรถมอเตอร์ไซด์ ราว 20 กิโลเมตร เข้าไปเยี่ยมแม่และหลานที่บ้าน ซื้อกับข้าวไปให้ แต่ไม่เข้าใกล้แม่ เนื่องจากกลัวนำเชื้อโรคไปติดแม่

จากนั้นก็กลับมาตรวจรักษาผู้ป่วยในช่วงเช้า ส่วนทุกบ่ายพี่อุ้มจะขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจออกไปในหมู่บ้าน ไปทุกบ้าน ไปทุกวัน ไปทุกที่ที่มีคนอาศัยเพื่อสื่อสาร รณรงค์เกี่ยวกับโควิด และการปฏิบัติตัวให้ชาวบ้านได้รู้ และในเคสเสี่ยงทุกรายที่เข้าข่ายต้องกักตัว 14 วัน พี่อุ้มจะเข้าไปพบและพูดคุยทุกรายในวันแรก และจากนั้นก็จะโทรศัพท์สอบถามอาการทุกวัน เมื่อได้ข่าวว่ามีทางฝ่ายปกครองมาตั้งด่านคัดกรองพี่อุ้มจะออกไปร่วมด้วยทุกครั้ง บ้านไหนมีงานศพ พี่อุ้มก็จะไปจัด social distancing ให้

“…ใช้เวลานานเหมือนกันที่กว่าชาวบ้านจะเข้าใจ และทำตามที่แนะนำ แต่หนูไม่เคยเห็นพี่อุ้มท้อแท้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ครั้งนี้เขาไม่ทำตาม พี่อุ้มก็ไปใหม่ ไปเรื่อยๆ ไปจนเขาเข้าใจ…”

แล้วพี่อุ้มก็จะไปที่อื่นๆ ต่อ ทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวันในทุกหมู่บ้านที่รับผิดชอบ ถ้าจำเป็นต้องซื้ออะไรก่อนพี่อุ้มจะควักเงินออกก่อนเสมอไม่ว่าจะเป็นการทำ mask ผ้าแจกชาวบ้านเพราะกลัวชาวบ้านไม่มีใช้ หรืออื่นๆ น้องที่ทำงาน รพสต. คนหนึ่งเล่าให้ฉันฟัง

พี่อุ้มทำแบบนี้ทุกวันตั้งแต่ตี 4 ถึง 4 ทุ่ม เมื่อร่างกายเริ่มส่งสัญญาณว่าไม่ไหว พี่อุ้มจึงเริ่มกินกาแฟมากขึ้นมากขึ้นในแต่ละวัน บางวันมากถึง 4-5 แก้ว เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนที่พี่อุ้มทำแบบนี้

จนก่อนวันเสียชีวิต 1 วันพี่อุ้มเริ่มบ่นเป็นเจ็บๆ หน้าอก แต่ก็ไม่ได้เอะใจว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ เพราะไม่มีโรคประจำตัวอะไร จนตี 2 พี่อุ้มเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอกอีก อาการไม่ดีขึ้นจึงขับรถไป รพ. ถึง รพ.เวลา 05.00 น. และ arrest ตอน 05.30 น. หมอพยาบาลช่วยปั๊มหัวใจ แต่พี่อุ้มก็ไม่กลับมาให้เราได้กอดหรือร่ำลา

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2563 จะเป็นอีกเหตุการณ์ที่ฉันไม่ลืม ฉันไปร่วมงานสวดอภิธรรมพี่อุ้ม ภาพที่ฉันเห็นทุกอย่างในงาน ชาวบ้าน และเพื่อนร่วมงาน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ในตำบลช่วยกันจัด ช่วยกันดูแลความสะดวกกับแขกที่มางาน ฉันเห็นโรงทานจากชาวบ้านมาช่วยกันตั้งรายเรียงหลายโรงทาน เพื่อแจกกับแขกที่มาร่วมงาน เหมือนงานบุญที่จัดตามวัด แต่ละวันมีคนมาร่วมฟังสวดราว 400-500 คนทุกวัน ทั้งที่ปกติช่วงนี้งานสีดำอื่นๆ จะมีคนมาค่อนข้างน้อยเพราะกลัวโควิด มีการจัด social distancing อย่างดีจากท่านนายแพทย์สาธารณสุขของเรา ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น และในวันส่งพี่อุ้มสู่สวรรค์มีผู้คนมาร่วมงานมากมายกว่า 1,500 คน มีชาวบ้านทำคลิปวีดีโอแสดงความอาลัยให้หลายคลิป นี่สินะที่เขาบอกว่าจะดีจะชั่วก็รอดูวันที่ไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว

ขอบคุณพี่อุ้ม นายชัยณรงค์ พรหมโสภา ที่ทำให้ฉันได้เรียนรู้ คุณค่าความเป็นคน คุณค่าของการเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน คุณค่าของการเป็นพยาบาลด้วยหัวใจ พี่ทำให้ฉันรู้สึกโคตรภูมิใจที่เกิดเป็นพยาบาล แต่ละคนอาจมีหลายบทบาทในชีวิต แต่บทบาทหนึ่งในการเป็นพยาบาลพี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้ฉันอยากทำดีในทุกๆ วัน การจากไปของพี่ เชื่อเถอะว่ามีอีกหลายคนได้ตั้งคำถามกับตัวเองแล้วว่าชีวิตเกิดมาทำไม คุณค่าของการเป็นพยาบาลอยู่ที่ตรงไหน และอีกบทหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือ “เราจะมีความสุขที่หัวใจเราได้เต้นเพื่อผู้อื่น” ได้นานๆ นั้น เราต้องมีเวลาดูแลหัวใจและร่างกายของเราด้วย เพื่อให้ได้ทำงานที่เรารักไปให้นานที่สุดตราบเท่าที่แรงเรามี และหัวใจยังคงพองโตทุกครั้งที่เห็นผู้ป่วยหายกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านกับคนที่เขารัก

ด้วยรักเคารพและอาลัยยิ่ง ปรานต์พนิตา นาสูงชน พว.ชำนาญการ

ในการนี้ ParadigmSET และ วิทยากรกระบวนทัศน์ ขอไว้อาลัยและขอยกย่องพี่อุ้ม หรือ คุณชัยณรงค์ พรหมโสภา เป็นต้นแบบหมออนามัยที่เรื่องราวของท่านได้สร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้แก่เราทุกคน

ดูทั้งหมด

แชร์